เรียนให้รู้จริง กับ"ไบโอเอทานอล"
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 6 กุมภาพันธ์ 2551 09:19 น.
รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอด
โรงงานผลิตต้นแบบ
ทุกวันนี้ การตั้งคำถามเกี่ยวกับการประหยัดทรัพยากรด้านพลังงานได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยมากขึ้น ทั้งในแวดวงการศึกษา หรือในภาคธุรกิจ หลายแห่งนำคำถามเหล่านั้นมาหาคำตอบด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงภาวะวิกฤติที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ
นอกจากนี้ ดูเหมือนกระแสสังคมจะเทความเชื่อมั่นไปที่พลังงานทางเลือกกันอย่างท่วมท้น ด้วยมองว่ามันสามารถเข้ามาแก้ไขวิกฤติราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นสูงได้เป็นอย่างดี หลายฝ่ายให้ความเห็นว่าประเทศไทยเป็นดินแดนเกษตรกรรม มีทรัพยากรดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ซึ่งหากมีการสนับสนุนเรื่องการพัฒนาพลังงานทางเลือก ราคาพืชผลทางการเกษตรก็จะขายได้ราคาดีกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้เกษตรกรไทยสามารถลืมตาอ้าปากได้ ชื่อของ "ไบโอเอทานอล" จึงกลายเป็นคำที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกที่ดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาพลังงานของชาติ
ไบโอเอทานอล เป็นการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด มาผ่านกระบวนการทางเคมีและชีวภาพ เพื่อเปลี่ยนแป้งจากวัตถุดิบให้กลายเป็นน้ำตาล จากนั้นนำมาผ่านกระบวนการหมักเพื่อเปลี่ยนให้เป็นแอลกอฮอล์ โดยจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ 95% และเมื่อทำให้ปราศจากน้ำจะได้แอลกอฮอล์ถึง 99.5% ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเป็นพลังงานทดแทน ได้ โดยการนำไปผสมกับน้ำมันเบนซิน หรือที่เราเรียกกันว่า น้ำมันแก๊สโซฮอล์นั่นเอง
เพื่อให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดโครงการอบรม "ไบโอเอทานอล" สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในเรื่องพลังงาน โดยหลักสูตรเน้นหนักไปที่การผลิตบุคลากรที่มีความรู้ในกระบวนการผลิตไบโอเอทานอลจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน
สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต (ในสาขาที่เกี่ยวข้อง) หรือวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต หรือมีประสบการณ์ทำงานในสายอุตสาหกรรมการเกษตร ใช้เวลาอบรมประมาณ 12 สัปดาห์ (สัปดาห์ละ 9 ชั่วโมง)
รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอด ประธานโครงการฯ เปิดเผยว่า รายวิชาในหลักสูตรการเรียนการสอนมีตั้งแต่การให้ข้อมูลในเชิงเศรษฐกิจของการผลิตไบโอเอทานอล และการประยุกต์ใช้เอทานอลในอุตสาหกรรม การวิเคราะห์คุณภาพวัตถุดิบ และกระบวนการเตรียมวัตถุดิมชนิดต่าง ๆ สำหรับการผลิตไบโอเอทานอล ลักษณะทางชีววิทยา และชีวเคมีของยีสต์ในการผลิตเอทานอล การควบคุมสภาวะการหมัก การควบคุมสภาวะการเพาะเลี้ยงยีสต์ในถังหมัก การออกแบบและควบคุมการกลั่น การแยกเชิงกล และการทำให้บริสุทธิ์ของเอทานอล ตลอดจนการจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตไบโอเอทานอล และการเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตไบโอเอทานอลทั้งในและต่างประเทศ
"ตอนนี้ประเทศไทยได้ออกใบอนุญาตในการตั้งโรงงานผลิตเอทานอล 45 แห่ง ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้มีความรู้ความสามารถเข้าไปควบคุมดูแล เราจึงเปิดหลักสูตรการอบรมนี้ขึ้นเพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการในอนาคต โครงการอบรมของเราจะเน้นที่วัตถุดิบ และสิ่งแวดล้อมแบบไทย ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งตอนนี้วัตถุดิบในประเทศมีความพร้อมมาก แต่ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการด้วย เพราะโรงงานเรายังสร้างไม่เสร็จทั้ง 45 แห่ง ถ้าโรงงานทั้ง 45 แห่งเปิดใช้ได้หมด กำลังผลิตมันก็จะสูงขึ้น ราคาผลผลิตทางการเกษตรก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เชื่อว่าคงจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นในปี 2009"
อย่างไรก็ดี ยังมีความจริงอีกด้านหนึ่งของการผลิตไบโอเอทานอลที่น่าตกใจและน่าเป็นห่วง เนื่องจากมันมีผลกระทบต่อ "สภาพแวดล้อม" เป็นอย่างมาก เนื่องจากในการหมักกากน้ำตาลหนึ่งถังใหญ่ ๆ นั้น เราสามารถใช้ได้แค่ 10% อีก 90% จะแปรสภาพเป็นของเสียเข้าสู่กระบวนการกำจัด หรือหากจำลองภาพการผลิตของโรงงานไบโอเอทานอลนั้น หากหนึ่งวันเราต้องการไบโอเอทานอล 100,000 ลิตร เราต้องใช้น้ำในปริมาณ 1,000,000 ลิตรเพื่อการผลิต และหลังจากผลิตแล้วเราจะมีน้ำเสียเพื่อกำจัดถึง 900,000 ลิตรเลยทีเดียว ซึ่งในจุดนี้เชื่อว่าจะเป็นปัญหาตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน
"การที่บริษัทต่างชาตินำเทคโนโลยีมาขายแล้วบอกว่า หลังจากผลิตแล้วจะไม่มีปัญหา น้ำที่ได้เป็นน้ำบริสุทธิ์สามารถวนกลับมาใช้ใหม่ได้นั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เพราะผลผลิตทางการเกษตร เช่น อ้อย ที่นำมาผลิตไบโอเอทานอลนั้นมีการใช้สารเคมีมากมาย ทำให้น้ำมีการปนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ เมื่อนำน้ำเหล่านี้กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ก็จะมีผลต่อยีสต์ เพราะสารเคมีเหล่านี้ยีสต์ไม่กิน ทำให้ผลิตแอลกอฮอล์ได้น้อยลง นั่นก็หมายความว่า ผลผลิตจะน้อยลง ของเสียจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อของเสียมากขึ้น ระบบบำบัดน้ำเสียที่สร้างไว้ก็อาจรองรับไม่ได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม กลิ่นเหม็น และการปนเปื้อนตามมาในอนาคต"
อาจจะเป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศไทยจะมีการอบรมให้ความรู้กับผู้ที่สนใจในหลักสูตรพลังงานทางเลือก ซึ่งสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โครงการฝีกอบรมไบโอเอทานอล แต่เมื่อฟังข้อเท็จจริงอีกด้านของไบโอเอทานอลแล้ว บางที การที่น้อง ๆ นักศึกษาหยิบจักรยานคันเก่งออกมาขับแทนรถยนต์ของคุณพ่อคุณแม่ อาจเป็นวิธีช่วยโลกที่เหมาะสมกว่าการมองหาพลังงานทางเลือกเพื่อมาสนองความต้องการในยุคเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็เป็นได้นะคะ
http://manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9510000014602
โครงการอบรม "ไบโอเอทานอล"ติดประกาศ 14/09/2006 เวลา 00:33 น. โดย admin
หลักการและเหตุผล
จากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ทำให้ปริมาณการใช้พลังงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ประกอบกับแหล่งทรัพยากรเชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างจำกัดส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติการณ์ด้านพลังงาน รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนจากแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตร
“ไบโอเอทานอล” เป็นแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ ที่สามารถใช้ทดแทนน้ำมันดิบและใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับภาคการขนส่งและยังเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สามารถผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร ที่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ในกระบวนการผลิตไบโอเอทานอลจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน
2. เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริการวิชาการด้านการผลิตไบโอเอทานอลแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
คุณสมบัติผู้สมัคร
- สำเร็จปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิตในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง วิศวกรรมศาสตรบัณฑิตหรือสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือ
เป็นผู้มีประสบการณ์ทำงาน ในสายอุตสาหกรรม-เกษตร หรือมีตำแหน่งหน้าที่ในอุตสาหกรรมและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
ระยะเวลาการศึกษา
โครงการอบรม “ไบโอเอทานอล” ได้แบ่งระยะเวลาการอบรมเป็น 3 รุ่น ต่อปี
กุมภาพันธ์ - เมษายน
มิถุนายน – สิงหาคม
ตุลาคม – ธันวาคม
ระยะเวลาการศึกษา 12 สัปดาห์ (สัปดาห์ละ 9 ชั่วโมง)
รายวิชาในหลักสูตร
- Introduction to bioethanol: สถานการณ์ ภาวะการแข่งขัน ข้อมูลเชิงเศรษฐกิจของการผลิตไบโอเอทานอล
และการประยุกต์ใช้เอทานอลในอุตสาหกรรม
- Preparation of raw materials for bioethanol production: วัตถุดิบ และการวิเคราะห์คุณภาพของวัตถุดิบ
รวมทั้งกระบวนการเตรียมวัตถุดิบชนิดต่างๆ สำหรับการผลิตไบโอเอทานอล อาทิ วัตถุดิบทางการเกษตร,
วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และ อุตสาหกรรมเกษตร
- Yeast technology for ethanol fermentation: ลักษณะทางชีววิทยาและชีวเคมีของยีสต์ในการผลิตเอทานอล
การเตรียมกล้าเชื้อและการเก็บรักษากล้าเชื้อ การควบคุมสภาวะการหมัก
- Bioethanol engineering: หลักการคำนวณทางวิศวกรรมศาสตร์ของการผลิตไบโอเอทานอล
การควบคุมสภาวะการเพาะเลี้ยงยีสต์ในถังหมัก การออกแบบและควบคุมการกลั่น การแยก-เชิงกลและทำให้บริสุทธิ์ของเอทานอล
รวมทั้งการจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตไบโอเอทานอล
- Seminar and Field trips: สัมมนา และการเยี่ยมชมโรงงานผลิตไบโอทานอลทั้งในและต่างประเทศ
ดำเนินโครงการโดย
รศ. ดร. กล้าณรงค์ ศรีรอต ประธานโครงการฯ
ดร. สุธาวดี จิตประเสริฐ เลขานุการโครงการฯ
และคณาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
http://www.thailandethanol.com/
6.2.51
ไบโอเอทานอล
เขียนโดย
GMan572
ที่
11:42
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น