4.2.51

การเกษตรที่น่าสนใจ

ศูนย์สาธิตการผลิตเห็ดหอม บ้านสุขสมบูรณ์
ที่อยู่ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 บ้านสุขสมบูรณ์ ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา 30370
ติดต่อ ประธานกลุ่มเห็ดหอม นางไสว พูนณรงค์ โทร. 01-9664152
ประเภท แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

กลุ่มอาชีพผลิตเห็ดหอม จะรวมกลุ่มผลิตเห็ดหอม และ เห็ดนานาชนิด รวมถึงกรรมวิธีต่างๆในการแปรรูปเห็ด จำหน่ายผลิตภัณฑ์เห็ดหอมสดและแปรรูป และมี บริการที่พักเป็นเต็นท์พร้อมเครื่องนอน จำนวน 20 หลัง พักได้ 50 ท่าน ราคา 200บาท/ท่าน อัตราค่าอาหารพร้อมที่พักแบบเหมาจ่าย ราคา 600 บาท/ท่าน สามารถเข้าชมได้ทุกวัน
เทคนิคการผลิตเห็ดนอกฤดู
สนใจการบังคับให้เห็ดสร้างดอกนอกฤดู เชิญติดต่อขอชมเทคนิคและวิธีการได้ที่ศูนย์สาธิตการผลิตเห็ดหอม บ้านสุขสมบูรณ์ ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา หรือ ที่ หน่วยบริการวิชาการแก่ชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี


บริการ ต้องการ เยี่ยมชม สามารถเข้าชม และเรียนรู้การผลิตได้ทุกวัน รวมถึงกรรมวิธีต่างๆในการแปรรูปเห็ด จำหน่ายผลิตภัณฑ์เห็ดหอมสดและแปรรูป และ มีบริการที่พักเป็นเต็นท์พร้อมเครื่องนอน
ผลิตภัณฑ์ มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เห็ดหอมสด เห็ดนางฟ้า เห็ดชนิดต่าง ๆ และ เห็ดแปรรูป หลากหหลายชนิด
เยี่ยมชม ศูนย์สาธิตการเพาะ และ แปรรูปเห็ดหอม บุไทร
การเดินทาง
ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 สายนครราชสีมา-วังน้ำเขียว-ชลบุรี เป็นเส้นทางหลักที่ผ่านอำเภอวังน้ำเขียว และ ใช้ในการติดต่ออำเภอใกล้เคียง การเดินทางจากกรุงเทพ มายังฉะเชิงเทราก่อน ด้วยเส้นทางมอเตอร์เวย์ หรือ โดยถนนสุวินทวงษ์ก็ได้ แล้วใช้เส้นทาง ถนน 304 มุ่งสู่สี่แยกกบินทร์บุรี รวมประมาณ 180 กิโลเมตร จากแยกกบินทร์บุรีนี้ไปถึงวังน้ำเขียว อีก 60 กิโลเมตร เป็นเส้นทางลาดขึ้นเขาสวยงาม ถ้ามาจากจังหวัดนครราชสีมา ตามถนน 304 ผ่านอำเภอปักธงชัย ถึงอำเภอวังน้ำเขียว ระยะทางประมาณ 79 กิโลเมตร
แผนที่ คลิ๊ก ดูแผนที่เดินทาง ศูนย์ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตำบลไทยสามัคคี
http://www.wangnamkheo.com/mushroom.htm

ครูภูมิปัญญาไทย ผู้ประจักษ์ชัดในวิถีทางการทำนาอินทรีย์ : นายทองเหมาะ แจ่มแจ้ง อาชีพทำนาเป็นอาชีพที่หลายคนคงไม่คิดว่าจะสร้างความร่ำรวย ให้กับตนเองได้ ลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 4 (สาขาเกษตรกรรม) เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ (สาขาทำนา) ประจำปี 2549 ได้ตั้งปณิธานที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง โดยยึดเป็นอาชีพหลัก ภายหลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานกับการตั้งใจที่จะสร้างความร่ำรวยจากการทำโรงสี ไร่มันสำปะหลัง ตัดเย็บเสื้อผ้าและการเป็นช่างตัดผม

จุดหักเหในชีวิต คือ ตอนที่ทำโรงสีได้เห็นคนงานโกยข้าวเป็นลม เพราะได้รับพิษจากการใช้สารเคมีฆ่าเพลี้
ยกระโดดในนาข้าว ซึ่งพิษของสารเคมียังติดไปถึงเมล็ดข้าว จึงทำให้เริ่มหันมาใช้วิธีเกษตรกรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีมาเป็นเวลานานเกือบสิบปีแล้ว

สิ่งที่คิดได้ หากว่าเมื่อต้องเลิกใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีอย่างเด็ดขาด คงต้องหาอะไรมาทดแทน จึงได้เริ่มศึกษาตามแนวทางการใช้จุลินทรีย์ของประเทศญี่ปุ่น โดยเริ่มจากการปรับดินให้กลับไปมีความอุดมสมบูรณ์เหมือนสภาพป่าเปิดใหม่ๆ การหมักฟางข้าว และไม่เผาตอซัง ในที่สุดได้คิดค้นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์จากป่าเขาใหญ่ น้ำตาไซเบอร์และห้วยขาแข้ง เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ใช้กับนาข้าวทดแทนปุ๋ยเคมีและสารเคมีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

วิธีการทำน้ำหมักชีวภาพ ก็คือ นำจุลินทรีย์ที่ได้รับการหมักมาร่วมกับรกหมูและกากน้ำตาลนาน 15 วัน นำน้ำหมักที่ได้ จำนวน 0.5-1.0 ลิตรมาผสมในถังน้ำขนาด 20 ลิตร โดยต่อก๊อกที่ก้นถัง สำหรับเปิดตรงช่องปล่อยน้ำเข้านาโดยให้ค่อยๆหยดทีละน้อยๆ กะให้พอดี จะทำให้ข้าวมีใบสีเขียวสดใสอย่างนี้ทุกสัปดาห์จนกว่าข้าวจะมีปรากฏการณ์ใบสีเหลืองครั้งที่ 2

ในการทำนา ลุงทองเหมาะให้ความรู้ว่า เกษตรกรต้องหมั่นสังเกตให้ดีว่าข้าวมีสีเหลืองจากโรคหรือเหลืองเพราะธรรมชาติของข้าว “ชาวนาเดี๋ยวนี้รู้แต่วิธีทำให้ข้าวเขียวอย่างเดียว อย่าใส่ปุ๋ยจนทำให้ข้าวมีใบสีเขียวอยู่ตลอดเวลา” โดย ธรรมชาติแล้วข้าวจะมีการผลัดใบเป็นระยะโดยมีการเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ใบเหลือง 3 ครั้ง ครั้งแรก คือ ตอนที่ข้าวอายุประมาณ 30 วัน ข้าวจะมีใบสีเหลืองเพื่อสลัดใบที่ 1 2 และ 3 ทิ้งแต่ถ้าหากใบที่ 4 เหลืองด้วยแสดงว่าข้าวเป็นโรค เกษตรกรต้องสังเกตว่า ข้าวมีกี่ใบเป็นการเหลืองโดยธรรมชาติหรือเหลืองเพราะเป็นโรคและเหลือง ครั้งที่ 2 เมื่อ “ข้าวอายุ 50-60 วัน โบราณว่าข้าวมีการแต่งตัว” เมือนับใบที่ 4 5 และ 6 ได้ในช่วงนี้ใบข้าวจะผลิตอาหารเพื่อสร้างรวงที่จะเกิดมาทำให้หยุดหาอาหารเลี้ยงใบที่ 1 2 3 ซึ่งจะทำให้ใบเหลือง ซึ่งเป็นธรรมชาติของข้าว “เกษตรกรที่เป็นชาวนาก็ไม่เข้าใจจะเร่งใส่ปุ๋ยมากในช่วงนี้ ทำให้ใบที่ 1 2 3 กลับมาเขียวซึ่งเรียกว่า หลงใบเลย ทำให้ไม่ได้จำนวนเมล็ดต่อรวงมาก” ควรหยุดใส่ปุ๋ยในช่วงนี้และเมื่อพ้นช่วงนี้ไปแล้ว
ก็ให้เร่งใส่ปุ๋ยบำรุงรวงได้ต่อเนื่อง จนเหลืองครั้งที่ 3 คือ ระยะพลับพลึงซึ่งข้าวสุก สามารเก็บเกี่ยวได้เงินและได้เมล็ดเต็มรวง

สำหรับการทำนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของลุงทองเหมาะ ในพื้นที่ 30 ไร่ จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 700 กิโลกรัม นำข้าวเปลือก 1 เกวียน (ตัน) ที่ได้ไปสีเป็นข้าวกล้องได้ 600 กิโลกรัม ผลิตขายเองในราคากิโลกรัมละ 40 บาท ทำให้สามารถมีรายได้ถึงเกวียนละ 24,000 บาท

ในการทำนาข้าวอินทรีย์โดยไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดหอยทำได้โดยใช้วิธีกำจัดหอยเชอรี่ไม่ให้ไข่บ่อย หรือให้จำนวนฟองต่อระจุกไข่ลดลงและทำให้ลูกหอยเจริญเติบโตได้ช้าลงดังนี้ คือ ใช้ส่วนผสมเหล้าขาว 2 ส่วน น้ำส้มสายชู อสร. 1 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน และจุลินทรีย์ 1 ส่วน ผสมกันแล้วหมักทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำส่วนผสม 1 ช้อนแกง ผสมกับน้ำเปล่า 5 ลิตร ฉีดพ่น ให้ทั่วแปลงนาหรืออาจจะใช้ส่วนผสม 200 ซีซี กับน้ำเปล่า 20 ลิตร นำไปหยดตรงช่องน้ำเข้านาให้ไหลปะปนไปทั่วแปลงนาภายในหนึ่งวัน เมื่อหอยได้สัมผัสกับน้ำที่มีน้ำหมักผสมอยู่จะทำให้วงจรการไข่ของหอยสะดุดและทำให้ขนาดกระจุกไข่ลดลงจาก 2 นิ้ว เหลือเพียงครึ่งนิ้วเท่านั้น ซึ่งลูกหอยที่เกิดก็เจริญเติบโตช้าปลากินได้ เป็นอาหารทำให้สามารถควบคุมจำนวนหอยและจับไปทำลายได้ง่าย ต่างจากการฆ่าด้วยสารเคมีที่มีฤทธิ์ร้ายแรง เช่น เอนโดซัลแฟน ซึ่งหากหอยที่เหลือรอดชีวิตบางตัวหลุดไปวางไข่ได้คราวละมากๆ ยากแก่การกำจัดโดยปลาหรือศัตรูตามธรรมชาติ

ในทางวิชาการจุลินทรีย์ที่ลุงทองเหมาะผลิตก็คือ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงชนิดหนึ่งนั่นเอง ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นได้มีการนำมาใช้กับนาข้าวอินทรีย์ได้ผลผลิตดีมาก และมีการผลิตขายเป็นการค้าแล้ว มีการนำมาเข้ามาขายในประเทศไทยด้วยในราคาลิตรละ 300-600 บาท จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง (photosynthesis bacteria) จะตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และทำให้ข้าวได้รับธาตุหรือปุ๋ยในโตรเจนโดยไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่ แต่มีเทคนิคการใช้ก็คือ ดินโดยทั่วไปที่มีสารเคมีจุลินทรีย์ สังเคราะห์แสงจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ จำเป็นต้องทำดินให้มีความอุดมสมบูรณ์หรือเว้นการใช้สารเคมีที่มีพิษต่อเซลล์เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจึงจะสามารถเจริญเติบโตในนาข้าวได้กิจกรรมที่เกิดจากจุลินทรีย์นี้จึงจะเป็นประโยชน์กับข้าว

สำหรับการเหลืองครั้งที่ 2 ของข้าว ในทางวิชาการเรียกช่วงดังกล่าวว่า ภาวะการสร้างจุดรวงหรือจุด IP ของข้าว (Panicle Initiation) ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพของข้าวที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงลำต้นภายในหรือการสร้างจุดรวงซึ่งมีระยะเวลาที่แตกต่างกันระหว่าง 40-60 วัน ตามชนิดพันธุ์ข้าวและความสมบูรณ์ของลำต้น เกษตรกรต้องรู้จักพันธุ์ข้าวของตนเองว่า จะสร้างจุดรวงที่เวลากี่วัน หากเกษตรกรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงก่อนระยะที่ข้าวจะเกิดจุดรวงก็จะเป็นการไปกระตุ้นการแตกกอและการสร้างสีเขียวและยอดหรือที่เรียกว่า หลงใบ จะทำให้ข้าวรวงเล็กจะมีจำนวนระแง้น้อย ทำให้มีจำนวนเมล็ดต่อรวงน้อย แต่หากเป็นการให้ปุ๋ยที่ตรงจังหวะการสร้างจุดรวงข้าวจะดูดธาตุไนโตรเจนไปสร้างรวงหรือสร้างระแง้แทน เมื่อหนึ่งรวงมีระแง้มากก็จะทำให้จำนวนเมล็ดที่มาเกาะที่ระแง้ได้มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการใส่ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรที่จะทำให้ข้าวมีสีเขียวอยู่ตลอดเวลาจึงไม่สามารถบอกได้ว่าเกษตรกรจะได้เมล็ดข้าวอย่างเต็มที่ เพราะข้าวอาจจะหลงใบ
ปัจจุบันลุงทองเหมาะ ได้จัดศูนย์อบรมเกษตรกรและจุดเรียนรู้ 1 ไร่ แก้จนให้กันเกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาศึกษาอบรม

นายทองเหมาะ แจ่มแจ้ง
หมอดินอาสากิตติมศักดิ์
52 หมู่ 6 ต.วังหว้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี
จากหนังสือ “ภูมิปัญญาเกษตรอินทรีย์ตามวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง”
จัดทำโดย กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กันยายน 2549

http://onknow.blogspot.com/2007/01/blog-post_10.html

ไม่มีความคิดเห็น: