ขอเชิญร่วมประกวดอัตลักษณ์ (Logo,Interlude) Thai PBS
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ( Thai PBS ) ร่วมกับ ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญนิสิต นักศึกษา บริษัท องค์กร และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมประกวดอัตลักษณ์ Thai PBS สถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อให้บริการด้านข่าวสาร สาระอย่างอิสระ สะท้อนความหลากหลายในทุก ๆ ด้านของสังคมไทย และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ตั้งแต่เริ่มต้น จึงเปิดให้มีการร่วมประกวดออกแบบอัตลักษณ์ของสถานีเพื่อนำไปใช้จริง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. รายละเอียดของงานที่ต้องการ
2. แบบฟอร์มประกวดอัตลักษณ์ Thai PBS
เริ่มส่งผลงานได้ตังแต่บัดนี้ - 20 กุมภาพันธ์ 2551
สถานที่ส่งผลงาน : ส่งผลงานด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ที่ ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ.พญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. 10330 โทร.0-2218-4499
หมายเหตุ - ผลงานที่ส่งทางไปรษณีย์ จะต้องมาถึงภายใน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 เท่านั้น
- ไม่รับผลงานทาง e-mail
- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0-2218-4499
http://www.thaipbs.or.th/
เงื่อนไขทีวีสาธารณะ
โดย สุวัฒน์ ทองธนากุล 29 เมษายน 2550 18:24 น.
.
เป็นอันว่าการดิ้นรนของกลุ่มผู้ผลิตรายการให้ทีไอทีวีออกมาแสดงปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรีที่จะให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้เปลี่ยนแนวทางไปเป็น “สื่อสาธารณะ” นั้นไม่เป็นผล
สังคมเห็นชัดว่าเป็นการพยายามจะรักษาผลประโยชน์ที่เคยได้จากธุรกิจ
ขณะเดียวกัน คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ก็ได้โอกาสแสดงจุดยืนว่ามิได้อุ้มพนักงานไอทีวีเดิม ซึ่งนายกรัฐมนตรีไปรับปากว่าจะให้ทำงานต่อเนื่อง จนถูกสงสัยว่าคล้าย “รับฝากของ” เพื่อรอให้เครือข่ายระบอบทักษิณกลับมาประมูลสัมปทานใหม่หรืออย่างไร
การยืนยันเดินหน้าจัดตั้ง “ทีไอทีวี” ให้เป็น “ทีวีสาธารณะ” โดยเตรียมเสนอร่างกฎหมายเพื่อการนี้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และพยายามให้เสร็จกระบวนการภายในยุครัฐบาลนี้
ย่อมเป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม
ประเทศไทยก็จะมีสถานีโทรทัศน์แบบสื่อสาธารณะเป็นครั้งแรกที่ดำเนินการโดยไม่ต้องพึ่งรายได้จากการรับโฆษณาผ่านจอ จึงไม่ต้องมีรายการที่ไม่ประเทืองปัญญา เช่น ละครน้ำเน่าหรือรายการมอมเมา
มีข้อท้วงติงเชิงห่วงใยอยู่บ้างโดยอ้างถึงสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ซึ่งเริ่มต้นจากโครงการความร่วมมือสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้เป็นโทรทัศน์เพื่อการศึกษา และส่งเสริมคุณภาพชีวิต แต่ต่อมาเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน และมิได้มีความเป็นอิสระจากการเป็นสื่อประชาสัมพันธ์นักการเมืองที่เป็นรัฐบาล แถมยังมีการหารายได้จากโฆษณาแฝง
คณะกรรมการกำหนดอนาคตสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟกรณีทีไอทีวีที่มี ดร.ดรุณี หิรัญรัตน์ เป็นประธาน ก็คงได้สรุปบทเรียนจากการศึกษาแนวทางของทีวีสาธารณะในประเทศต่างๆ เช่น BBC ของอังกฤษ CBC ของแคนาดา และ NHK ของญี่ปุ่น เป็นต้น
เมื่อไม่ต้องหวังรายได้จากค่าโฆษณา แต่จะผลิตรายการสาระคุณภาพ และความบันเทิงสร้างสรรค์เพื่อคุณประโยชน์ต่อสังคมอย่างเต็มที่ ก็จะต้องมีเงินอุดหนุน
ตัวอย่างนำร่องที่ได้ผลดีมีให้เห็นแล้วก็คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งได้ 2% จากเงินภาษีเหล้าและภาษีบุหรี่ จึงมีเงินปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนโครงการและกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพแก่สังคมไทย
รายได้จาก “ภาษีบาป” ที่ สสส. นำมาใช้ป้องกันการบั่นทอนสุขภาพ ก็เป็นช่องทางที่อาจใช้เป็นแหล่งสนับสนุนทีวีสาธารณะ ซึ่งคาดว่าจะใช้ปีละ 1,700 ล้านบาท
นอกจากนี้ เงินที่รัฐได้จากการเก็บค่าสัมปทานคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ช่องต่างๆ รวมทั้งที่ได้จากธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งรวมแล้วรัฐมีรายได้เดือนละประมาณ 6,000 ล้านบาท ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะอาจใช้จัดสรรเป็นเงินอุดหนุน รวมทั้งมีเงินบริจาคที่จูงใจด้วยสิทธินำไปลดหย่อนภาษีได้
สิ่งที่น่าห่วงและท้าทายต่อการพิสูจน์ก็คือ
ความเป็นอิสระ เพราะต้องพึ่งเงินอุดหนุนที่รัฐจัดให้ แม้จากเงินภาษีบางประเภทก็ตาม ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อก็จึงบอกไม่มั่นใจว่าจะอิสระจากรัฐบาล เพราะใช้เงินจากการจัดให้นี่แหละ
ดังนั้น ก็ต้องมีการออกแบบกฎกติกาของระบบการบริหารที่ดี เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากนักการเมือง
คุณภาพรายการ จะต้องใช้มืออาชีพที่มีแผน และการผลิตรายการที่มีคุณภาพและความน่าสนใจ
การคัดสรรคนที่จะมาดำเนินการ จึงต้องการคนที่มีวิสัยทัศน์ด้านการสื่อสาร และมีจิตสำนึกเพื่อสาธารณะ
ลองคิดดู ถ้าตั้งวัตถุประสงค์ที่จะใช้ทีวีสาธารณะแห่งนี้เป็นสื่อในการสร้างเสริมคนไทยตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่เพื่อให้เป็นพลเมืองที่มีค่านิยม ทัศนคติ และพฤติกรรมที่ดี มีทั้งความรอบรู้และมีคุณธรรม โทรทัศน์ช่องนี้ก็สามารถทำได้เต็มที่ เพราะอิสระจากการครอบงำของการเมืองและกลุ่มทุน
รายการเพื่อการศึกษาที่สร้างสรรค์ใหม่ รวมทั้งยังสามารถสนับสนุนการสอนทางไกลบางวิชาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เช่น ความรู้วิชาภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ หรือความรู้ทางสังคมและการเมืองที่คนทั่วไปได้ความรู้ด้วย
ขณะเดียวกัน รายการบันเทิงคุณภาพสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมอุดมคติ เช่น ความรักชาติ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความกตัญญู ที่เสนอในรูปแบบละครโทรทัศน์อย่างเช่น ละครอิงประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตาก สมเด็จพระนเรศวร ที่เคยมีทางโทรทัศน์มาแล้ว หรือละครต่างประเทศ เช่น โอชิน แดจังกึม หรือแม้แต่เกมโชว์ที่ให้ความรู้ เช่น รายการ “ฉลาดสุดๆ” “แฟนพันธุ์แท้”
ถามว่าถ้ารายการดีๆ ไม่มีโฆษณาแทรกเกิดขึ้นจริง คนจะนิยมไหม ชอบแน่นอน
แม้แต่บางรายการยังนำไปผลิตเป็นแผ่นซีดีขายหารายได้เข้าสถานีก็ยังไหว
ดังนั้น ถ้าทีวีสาธารณะที่เกิดขึ้นได้ “มืออาชีพ” ที่มีจุดยืนทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ก็เชื่อว่าน่าจะส่งแรงกระทบให้เกิดการรับรู้และเปรียบเทียบ และภูมิศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทยจะมีการขยับปรับเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น
การผลิตของโทรทัศน์ช่องปกติทั่วไปที่มักมองผู้ชมเป็น “ผู้บริโภค” และผลิตในสิ่งที่คิดว่าผู้บริโภคชอบ ทั้งๆ ที่ไม่ประเทืองปัญญาแถมบางส่วนยังมอมเมาด้วยซ้ำ
แต่รัฐมีหน้าที่ต้องหล่อหลอมสร้างผู้ชมสื่อสาธารณะในฐานะ “ประชากร” ที่ต้องชี้นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีปัญญา และมีจิตสำนึกที่คุณธรรม คือ คิดดี ใฝ่ดี ทำดี
คนที่เคยทำงานกับไอทีวีหรือทีไอทีวีวันนี้ จึงต้องทบทวนตัวเอง คนที่เหมาะกับแนวทางนี้กลับจะได้ร่วมงานที่มีคุณค่าน่าภูมิใจด้วยซ้ำไป
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000048858
4.2.51
Thai PBS
เขียนโดย
GMan572
ที่
15:05
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น