เปิดขุมทรัพย์...ภูมิปัญญาไทยท่องพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย
โดย Uncle fat 16 สิงหาคม 2550 09:42 น.
ภูมิปัญญาไทยเป็นองค์ความรู้ ที่มีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ รุ่นปู่ย่า ตายาย ที่ยิ่งนานวันเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก หรือแม้แต่คนวัยหนุ่มสาวต่างค่อยๆ ลืมเลือน เพราะหากไม่รู้ว่า “หมอชีวกโกมารภัจจ์” เป็นใคร? หรือแม้แต่คุณค่าประโยชน์ของสมุนไพร ที่รู้จักและเห็นจนชินตาอย่างขิง ข่า ตระไคร้ ดีต่อสุขภาพอย่างไร พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย ขุมทรัพย์ภูมิปัญญา อาจช่วยไขคำตอบเหล่านี้
นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย เป็นแหล่งที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย วิวัฒนาการด้านการแพทย์แผนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สมุนไพร ยาตำรับโบราณ การนวดไทย ไม่ให้สูญหาย โดยมุ่งอนุรักษ์องค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทยที่ให้คงอยู่ประจักษ์แก่สายตาของชนรุ่นหลัง ซึ่งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมีการจัดนิทรรศการ 9 ห้อง เป็นแหล่งให้ความรู้กับประชาชน
“พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย อาจไม่สามารถรวบรวมความรู้ ภูมิปัญญาไทยทั้งหมดที่เรามีอยู่ เพราะภูมิปัญญาเหล่านี้ มีมากมาย แต่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมของประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน หรือภาคใต้ ดังนั้นพิพิธภัณฑ์จึงเป็นองค์ความรู้ส่วนหนึ่งที่อยากจะเชิญชวนให้คนไทยรุ่นใหม่เข้ามาศึกษาหาความรู้และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ความรู้เกี่ยวกับธาตุเจ้าเรือน การรับประทานอาหารตามธาตุ ประโยชน์ของสมุนไพรต่างๆ”
นพ.ปราโมทย์ ยังได้อธิบายถึงส่วนต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ทั้ง 9 ห้อง ด้วยว่า ในพิพิธภัณฑ์ห้องที่ 1 หอพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภา จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันระหว่างพระพุทธศาสนากับการแพทย์แผนไทยหรือเรียกว่า “พุทธศาสน์การแพทย์” คัมภีร์เหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับช่วง วัยต่างๆของมนุษย์ คือ 1. ปฐมวัย คัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับ เช่น คัมภีร์ประถมจินดา คัมภีร์มหาโชตรัต และคัมภีร์สมุฎฐานวินิจฉัย ล้วนอธิบายที่มาของการเกิดเป็นมนุษย์ ตั้งแต่การปฏิสนธิในครรภ์ มารดา จนกระทั่งคลอดออกมาเป็นชายหรือหญิง และธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ 2. มัชฌิมวัย ได้แก่ คัมภีร์มุจฉาปักขันธิกา คัมภีร์ธาตุบรรจบ คัมภีร์โรคนิทาน คัมภีร์ธาตุนิวรณ์ คัมภีร์ตักกศิลา ที่บอกเกี่ยวกับสาเหตุความเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ และ 3. ปัจฉิมวัย ได้แก่ คัมภีร์ชวดาร คัมภีร์กษัย คัมภีร์หฤษโรค อธิบายถึงความเสื่อมโทรมของร่างกาย เป็นต้น
ส่วนห้องที่ 2 หอบรมครูการแพทย์แผนไทย ในห้องนี้มีประวัติของหมอชีวกโกมารภัจจ์แพทย์ประจำตัวพระพุทธเจ้า ซึ่งถือเป็นบรมครูการแพทย์แผนไทย นอกจากนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ความรู้ และพิธีไหว้ครูของแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นวัฒนธรรม อันดีงามของชาวไทยที่มีความกตัญญูรู้คุณครูบาอาจารย์
ห้องที่ 3 หอวิวัฒน์การการแพทย์แผนไทย จะแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการ การแพทย์แผนไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคปัจจุบัน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ห้องที่ 4 หอภูมิปัญญาไทย เพื่อแสดง แนวคิดและทฤษฎีการแพทย์แผนไทย สาเหตุของการเกิดโรค การใช้สมุนไพรรักษาโรค จักรวาลกับชีวิตธาตุทั้งสี่และธาตุเจ้าเรือน การแพทย์พื้นบ้านไทย ห้องที่ 5 ห้องการนวดไทย เพื่อแสดงถึงประวัติความเป็นมาเรื่องการนวด ซึ่งเป็นภูมิปัญญาประยุกต์การเรียนรู้จากธรรมชาติ
สำหรับห้องที่ 6 ห้องอาหารไทยเพื่อสุขภาพ เพื่อชี้ให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกินอยู่ของคนไทยทั้ง 4 ภาค โดยเน้น พืช ผัก สมุนไพรของแต่ละภาค ห้องที่ 7 หอยา แสดงวิวัฒนาการในการปรุงยา เครื่องยาและยาไทย ประเภทต่าง ๆ ส่วนห้องที่ 8 - 9 เป็นนิทรรศากรหมุนเวียน และเรือนรับรอง โดยจะปรับเปลี่ยนเนื้อหาการจัดนิทรรศการให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งเป็นห้องแสดงกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมทั้ง 4 ภาค ในช่วงเวลาต่างๆ
“เดิมพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยเป็นการเปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะ แต่ครั้งนี้เราเปิดให้กับผู้สูงอายุและครอบครัวได้ศึกษาหาความรู้ ได้ใช้เวลารวมกันของครอบครัวอย่างมีความสุข นอกจากนั้นยังเป็นการนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้การแพทย์แผนไทยดูแลผู้สูงอายุได้อีกด้วย” นพ.ปราโมทย์เชิญชวน
ทั้งนี้ สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขขอเชิญผู้สูงอายุและครอบครัว เข้าชมขุมทรัพย์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยหรือพิพิธภัณฑ์ด้านการแพทย์แผนไทยสัปดาห์ละ 2 วัน โดยจะเปิดให้เข้าชมทุกวันพุธและวันศุกร์ ตลอดปี 2550 วันละ 2 รอบ รอบเช้าตั้งแต่เวลา 10.00 น. - 12.00 น. รอบบ่าย ตั้งแต่เวลา 13.30 น. - 15.30 น. โดยไม่เสียค่าใช่จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อ ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ 0-2590-2601 , 0-2590-2600
http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9500000095933
6.2.51
พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย
เขียนโดย
GMan572
ที่
11:11
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น